เรือประจัญบานบิสมาร์ค
บิสมาร์ค (เยอรมัน: Bismarck) เป็นเรือประจัญบาน และหนึ่งในเรือรบที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง บิสมาร์คเป็นเรือลำแรกในเรือประจัญบานชั้นบิสมาร์ค ซึ่งตั้งตามชื่อนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิเยอรมันคนแรก ออทโท ฟอน บิสมาร์ค เรือบิสมาร์คมีระวางขับน้ำเต็มที่ถึง 50,000 ตัน และเป็นเรือประจัญบานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เข้าประจำการในสมัยนั้นเรือบิสมาร์คครองตำแหน่งเรือประจัญบานใหญ่ที่สุดได้ราวห้าเดือนก็ถูกล้มแชมป์โดยเรือประจัญบานเทียร์พิทซ์ เรือในชั้นเรือเดียวกันซึ่งหนักกว่าบิสมาร์คราว 2,000 ตัน
บิสมาร์คได้ปฏิบัติการเพียงครั้งเดียวตลอดอายุการใช้งานอันสั้น โดยจมลงในตอนเช้าของวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ระหว่างปฏิบัติการไรน์อือบุง เรือบิสมาร์คและเรือลาดตระเวนหนัก Prinz Eugen พยายามที่จะขัดขวางและทำลายขบวนเรือซึ่งแล่นระหว่างอเมริกาเหนือและสหราชอาณาจักร ขณะที่บิสมาร์คและเรือรบเยอรมันอีกลำหนึ่งกำลังพยายามที่จะแล่นออกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก เรือรบทั้งสองถูกค้นพบโดยราชนาวีอังกฤษ และถูกดึงเข้าสู่ยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก ระหว่างการรบเวลาสั้น ๆ เรือหลวงฮูด เรือธงของกองเรือหลวงและความภาคภูมิใจของราชนาวีอังกฤษ ถูกจมลงหลังจากถูกยิงเพียงไม่กี่นาที นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล โกรธแค้นจนออกคำสั่งให้ "จมเรือบิสมาร์ค" ซึ่งกระตุ้นให้ราชนาวีอังกฤษติดตามเรือบิสมาร์คไปอย่างไม่ลดละ
สองวันถัดมา เมื่อเรือบิสมาร์คเกือบจะไปถึงน่านน้ำที่ปลอดภัยแล้ว เครื่องบินปีกสองชั้นของราชนาวีอังกฤษได้ยิงตอร์ปิโดถล่มเรือและทำให้หางเสือเรือขัดข้อง เรือรบหนักของอังกฤษสามารถตามทันบิสมาร์คได้ ในการรบที่เกิดขึ้นตามมาในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 บิสมาร์คถูกโจมตีอย่างหนักเป็นเวลานานเกือบสองชั่วโมงก่อนที่จะจมลงสู่ก้นทะเลการจมของบิสมาร์คได้รับการรายงานบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลก
เรือ บิสมาร์ค ในปี ค.ศ. 1940 | |
ประวัติ (เยอรมนี) | |
---|---|
ชื่อเรือ: | บิสมาร์ค Bismarck |
ตั้งชื่อตาม: | ออทโท ฟอน บิสมาร์ค |
สั่งต่อเรือ: | 16 พฤศจิกายน 1935 |
ต่อขึ้นที่: | อู่โบลมอุนท์ฟ็อสส์ นครฮัมบวร์ค |
วางกระดูกงู: | 1 กรกฎาคม 1936 |
ปล่อยลงน้ำ: | 14 กุมภาพันธ์ 1939 |
ขึ้นระวาง: | 24 สิงหาคม 1940 |
เกียรติยศ และ รางวัล: | 48°10′N 16°12′W |
สัญลักษณ์: | |
ลักษณะเฉพาะ | |
ชั้น: | เรือประจัญบานชั้นบิสมาร์ค |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 41,700 ตัน (มาตรฐาน) 50,900 ตัน (เต็มที่) |
ความยาว: | 251 เมตร (ตลอดลำ) 241.5 เมตร (แนวน้ำ) |
ความกว้าง: | 36 เมตร (แนวน้ำ) |
กินน้ำลึก: | 9.3 เมตร (มาตรฐาน) 10.2 เมตร (เต็มที่) |
ใบจักร: |
|
ความเร็ว: | 30.1 นอตขณะทำการทดสอบ (มีบทความหนึ่งอ้างถึง 31.1 นอต[1]) |
พิสัยเชื้อเพลิง: | 8,525 ไมล์ทะเลที่ 19 นอต |
อัตราเต็มที่: | 2,092: นายทหาร 103 นาย ลูกเรือ 1,989 นาย |
ยุทโธปกรณ์: |
|
เกราะ: | |
อากาศยาน: | 4×Arado Ar 196 A-3, with 1 double-ended catapult |
การจัดสร้างและลักษณะเรือ
ดูบทความหลักที่: เรือประจัญบานชั้นบิสมาร์ค
เรือบิสมาร์คถูกสั่งสร้างภายใต้ชื่อ โครงการทดแทนฮันโนเฟอร์ (Ersatz Hannover) เพื่อทดแทนเรือหลวงฮันโนเฟอร์ (SMS Hannover) ซึ่งจัดสร้างขึ้นก่อนยุคเรือเดรดนอต[10] ในข้อตกลงได้มอบหมายให้อู่ต่อเรือโบลมอุนท์ฟอสส์ (Blohm & Voss) ในเมืองฮัมบวร์คเป็นผู้จัดสร้าง มีการวางกระดูกงูในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 ที่ Helgen IX[11][12] เรือปล่อยลงน้ำในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 ระหว่างพิธีการ โดโรเท ฟอน เลอเวินเฟ็ลด์ (Dorothee von Löwenfeld) หลานสาวนายกรัฐมนตรีบิสมาร์คเป็นผู้ทำพิธีตั้งเรือและปล่อยเรือลงน้ำ และมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธี[12] งานปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ได้ดำเนินงานหลังการปล่อยเรือลงน้ำ ในเวลานั้น หัวเรือเดิมแบบมุมตรงได้ถูกแทนที่ด้วยหัวเรือเอียงลาดแบบแอตแลนติก (Atlantic bow) ซึ่งคล้ายกับเรือประจัญบานชั้นชาร์นฮอสท์ (Scharnhorst) [13] เรือบิสมาร์คเข้าประจำการในครีคส์มารีเนอวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1940 ขณะทำการแล่นเรือทดสอบ[14] มีหน้าที่ควบคุมทะเลบอลติก โดยมีนาวาเอกแอนสท์ ลินเดอมัน (Ernst Lindemann) เป็นผู้บังคับการเรือในขณะเรือเข้าประจำการ[15]
แบบ 3 มิติของเรือบิสมาร์ค ตามลักษณะที่ปรากฏระหว่างปฏิบัติการไรน์อือบุง (Operation Rheinübung)
เรือบิสมาร์คมีระวางขับน้ำมาตรฐาน 41,700 ตัน (41,000 ลองตัน[note 1]) และมีระวางขับน้ำเต็มที่ 50,300 ตัน (49,500 ลองตัน) มีความยาวตลอดลำ 251 เมตร, กว้าง 36 เมตร และกินน้ำลึกสูงสุด 9.9 เมตร (32 ฟุต 6 นิ้ว) [10] เรือบิสมาร์คเป็นเรือประจัญบานเยอรมันที่ใหญ่ที่สุด[16] และมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือประจัญบานของชาติอื่นๆ ในยุโรป ยกเว้นเรือ เรือหลวงแวนการ์ด (HMS Vanguard) [17] เรือมีแหล่งกำลังเป็นกังหันไอน้ำโบลมและฟอสส์แบบเปลี่ยนเกียร์ได้ 3 กังกัน และหม้อไอน้ำความร้อนยวดยิ่งวากเนอร์ (Wagner) ซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง 12 หม้อ ให้กำลังถึง 150,170 แรงม้า (shaft horsepower) (111,980 กิโลวัตต์) ให้ความเร็วสูงสุด 30.01 นอต (55.58 กม./ชม.; 34.53 ไมล์/ชม.) ในตอนแล่นทดสอบ มีระยะทำการ 8,870 ไมล์ทะเล (16,430 กม.; 10,210 ไมล์) ที่ความเร็ว 19 kn (35 km/h; 22 mph)[10] เรือบิสมาร์คติดตั้งเรดาร์ค้นหา FuMO 23 สามชุด ติดไว้ด้านหน้าเรือ กล้องวัดระยะท้ายเรือ และยกพื้นที่อยู่ส่วนบนสุดของเสาหน้ากระโดงเรือ[18]
ตามมาตรฐานของเรือ เรือจะมีลูกเรือเป็นนายทหาร 103 นาย และพลทหาร 1,962 นาย[14] ลูกเรือจัดแบ่งเป็น 12 กองร้อย กองร้อยละ 180 ถึง 220 นาย หกกองร้อยแรกรับผิดชอบอาวุธยุทธภัณฑ์ กองร้อยที่ 1 ถึงกองร้อยที่ 4 ดูแลหมู่ปืนหลักและหมู่ปืนรอง กองร้อยที่ห้าและหกรับผิดชอบปืนต่อต้านอากาศยาน กองร้อยที่ 7 ประกอบด้วยผู้ชำนาญเฉพาะทางซึ่งรวมถึงพ่อครัวและช่างไม้ กองร้อยที่ 8 มีหน้าที่ดูแลจัดการอาวุธยุทธภัณฑ์ พนักงานวิทยุ เจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ และเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายพลาธิการ ประจำกองร้อยที่ 9 สามกองร้อยสุดท้ายประจำในห้องเครื่องยนต์ เมื่อบิสมาร์คออกจากท่า เรือจะมีลูกเรือมากกว่า 2,200 นาย เพราะจะนับรวมพนักงานกองเรือ ลูกเรือที่มีหน้าที่นำส่งเรือเชลย และนักข่าวสงครามบนเรือด้วย[19]พนักงานห้องเครื่องยนต์ราว 200 นายมาจากเรือลาดตระเวนเบาคาลส์รูเออ (Karlsruhe) ที่สูญเสียไประหว่างปฏิบัติการเวเซอร์อือบุง (Operation Weserübung) ซึ่งเป็นปฏิบัติการการรุกรานนอร์เวย์ของเยอรมัน[20]
เรือบิสมาร์คติดอาวุธปืน SK C/34 ลำกล้อง 38 ซม. แปดกระบอกในป้อมปืนแฝด 4 ป้อม ป้อมปืนติดตั้งแบบซูปเปอร์ไฟร์อิ้ง (super-firing[note 2]) ป้อมปืนหน้าชื่อ "อันโทน (Anton)" และ "บรูโน (Bruno)" ป้อมหลังชื่อ "เคซาร์ (Caesar)" และ "โดรา (Dora)"[note 3] อาวุธรองประกอบด้วยปืน L/55 ลำกล้อง 15 ซม. 12 กระบอก ปืน L/65 ลำกล้อง 10.5 ซม. 16 กระบอก ปืน L/83 ลำกล้อง 3.7 ซม. 16 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน ลำกล้อง 2 ซม. 12 กระบอก เรือบิสมาร์คยังบรรทุกเครื่องบินทุ่นลอยน้ำลาดตระเวนอาราโด อาแอร์ 196 (Arado Ar 196) โรงเก็บเครื่องบินขนาดใหญ่ และเครื่องดีดแบบหัวท้ายเหมือนกัน (double-ended catapult) [14] เกราะข้างหนา 320 มม. (13 นิ้ว) และปกคลุมโดยเกราะคู่ส่วนบนและเกราะหลักของดาดฟ้าเรือหนา 50 มม. (2.0 นิ้ว) และ 100 ถึง 120 มม. (3.9 ถึง 4.7 นิ้ว) ตามลำดับ ป้อมปืนหลักได้รับการปกป้องด้วยเกราะหนา 360 มม. (14.2 นิ้ว) บริเวณด้านหน้า และหนา 220 มม. (8.7 นิ้ว) บริเวณด้านข้าง[10]
ประวัติการปฏิบัติการ[แก้]
เรือประจัญบานบิสมาร์คในอู่ในฮัมบวร์ค
วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1940 สามสัปดาห์หลังเข้าประจำการ เรือบิสมาร์คออกจากฮัมบวร์คเพื่อเริ่มแล่นเรือทดสอบในอ่าวคีล (Kiel) [21] เรือซแพร์เบร็คเคอร์ (Sperrbrecher) 13 ได้ทำหน้าที่คุ้มกันเรือเดินทางไปแหลมอาร์โคนา (Cape Arkona) ในวันที่ 28 กันยายน แล้วจึงไปถึงเมืองโกเทินฮาเฟิน (Gotenhafen) เพื่อแล่นเรือทดสอบในอ่าวดันท์ซิช (Gulf of Danzig) [22] โรงไฟฟ้าของเรือได้รับการทดสอบอย่างละเอียด มีการปรับการวัดไมล์ทะเลให้ถูกต้องแม่นยำ และการแล่นเรือความเร็วสูง ขณะที่ความเสถียรและการจัดการกลยุทธ์ที่เริ่มทดสอบ พบว่ามีข้อบกพร่องในการออกแบบ ขณะที่ความพยายามที่จะคัดท้ายเรือด้วยคนเพียงลำพังด้วยการพัฒนาปรับเปลี่ยนการพัฒนาใบจักรเรือ ลูกเรือเรียนรู้ว่าการปฏิบัตินั้นด้วยตัวคนเดียวปฏิบัติยากมาก แม้ว่า สกรูท้ายเรือจะทำงานเต็มกำลังในทิศตรงข้าม แต่ก็เพิ่มความสามารถในการเลี้ยวเพียงเล็กน้อย[23] หมู่ปืนเรือหลักทำการทดสอบยิงครั้งแรกปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจากการทดสอบพบว่าเรือเป็นแท่นปืนใหญ่ที่มีความเสถียรมาก[24] เรือได้แล่นทดสอบจนถึงเดือนธันวาคม บิสมาร์คได้เดินทางกลับไปถึงฮัมบวร์คในวันที่ 9 ธันวาคม สำหรับการปรับเปลี่ยนอีกเล็กน้อยและการติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นให้สมบูรณ์[21]
เรือบิสมาร์คมีแผนเดินทางกลับคีลในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1941 แต่มีเรือสินค้าอับปางในคลองคีลส่งผลให้ใช้ทางน้ำไม่ได้ สภาพอากาศที่เลวร้ายได้ขัดขวางการกู้ซากเรือที่จมลง เรือบิสมาร์คจึงเดินทางกลับคีลไม่ได้จนกระทั่งเดือนมีนาคม[21] ความล่าช้าสร้างความผิดหวังให้แก่ลินเดอมันเป็นอย่างมาก เขากล่าวว่า "เรือบิสมาร์คติดอยู่ที่ฮัมบวร์คถึงห้าสัปดาห์... เวลาอันมีค่าที่จะล่องเรือในทะเลสูญเสียไปด้วยเหตุที่ไม่ได้ก่อขึ้น และเป็นความล่าช้าอย่างมีนัยยะในการเคลื่อนกำลังในขั้นสุดท้ายด้วยเหตุซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"[25] ขณะที่รอให้เดินทางไปถึงคีล เรือบิสมาร์คเป็นที่รับรองเรือเอกแอนเดอร์ ฟอร์เชลล์ (Anders Forshell) ผู้ช่วยทูตกองทัพเรือสวีเดนไปยังเบอร์ลิน เขากลับไปยังสวีเดนพร้อมรายละเอียดลักษณะของเรือ และได้เผยความลับนี้กับอังกฤษ โดยทหารที่สนับสนุนอักฤษในกองทัพเรือสวีเดน ข้อมูลถูกจัดเตรียมไว้ให้ราชนาวีอังกฤษกับรายละเอียดแรกทั้งหมดของเรือ แม้ว่าจะขาดลักษณะจำเพาะที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยความเร็วสูงสุด, ระยะทำการ, และระวางขับน้ำ[26]
เรือบิสมาร์คขณะแล่นทดสอบ ซึ่งจะเห็นว่ายังไม่มีกล้องวัดระยะเนื่องจากยังไม่ได้ทำการติดตั้ง
วันที่ 6 มีนาคม เรือบิสมาร์คได้รับคำสั่งแล่นเรือไปคีล โดยมีเครื่องบินรบเม็สเซอร์ชมิท เบเอ็ฟ 109 จำนวนหลายลำ และเรือสินค้าติดอาวุธจำนวน 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกันระหว่างเส้นทาง พร้อมเรือตัดน้ำแข็ง เมื่อเวลา 08:45 น. วันที่ 8 มีนาคม เรือบิสมาร์คได้เกยตื้นที่ชายฝั่งด้านใต้ของคลองคีลเป็นเวลาสั้นๆ แม้ว่าจะหลุดออกมาใต้ภายในหนึ่งชั่วโมง เรือเดินทางถึงคีลในวันถัดมา ลูกเรือได้ทำการกักตุนอาวุธยุทธภัณฑ์ เชื้อเพลิง และเสบียงอื่นๆ และดำเนินการพรางเรือด้วยลายพรางแบบแดซเซิล (dazzle paint) วันที่ 12 มีนาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษได้เข้าโจมตีท่าเรือแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[27] วันที่ 17 มีนาคม เรือประจัญบานเก่า เรือหลวงชเลซีน (SMS Schlesien) ซึ่งปัจจุบันดัดแปลงเป็นเรือตัดน้ำแข็ง คุ้มกันฝ่าน้ำแข็งไปถึงเมืองโกเทินฮาเฟิน เพื่อฝึกความพร้อมในการรบ[28]
กองบัญชาการใหญ่กองทัพเรือเยอรมัน (OKM) ซึ่งบัญชาการโดยพลเรือเอกเอริช เรเดอร์ มีเป้าหมายที่จะคงภารกิจที่ใช้เรือขนาดหนักโจมตีเส้นทางการค้าของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแอตแลนติกต่อไป เรือประจัญบานชั้นชาร์นฮอสท์ (Scharnhorst) สองลำที่ประจำอยู่ที่เมืองแบร็สต์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส เป็นหัวหอกหลักในการโจมตีในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเวลานั้นปฏิบัติการเบอร์ลินเพิ่งจบลง เรือเทียร์พิตส์ซึ่งเรือพี่น้องของเรือบิสบาร์คถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เรือบิสมาร์คและเรือเทียร์พิตส์เข้าโจมตีเข้าไปในเขตศัตรูจากทะเลบอลติกและนัดพบกับเรือชั้นชาร์นฮอสท์ทั้งสองลำในแอตแลนติก ปฏิบัติการมีแผนเริ่มดำเนินการประมาณวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1941 ในช่วงเดือนมืดซึ่งจะทำให้ปัจจัยแวดล้อมช่วยอำนวยประโยชน์[29]
การจัดสร้างและติดตั้งอุปกรณ์บนเรือเทียร์พิตส์เสร็จสมบูรณ์ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตามเรือยังคงไม่ขึ้นระวางจนกระทั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และเรือยังไม่พร้อมเข้าทำการรบจนกระทั่งปลายปี ด้วยสถานการณ์ที่ซับซ้อน เรือประจัญบานกไนเซอเนา (Gneisenau) ได้รับความเสียหายจากตอร์ปิโดขณะอยู่ในแบร็สต์และจากระเบิดขณะอยู่ในอู่แห้ง เรือประจัญบานชาร์นฮอสท์ (Scharnhorst) ต้องการยกเครื่องหม้อไอน้ำเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการเบอร์ลิน ระหว่างการยกเครื่อง คนงานพบว่าหม้อไอน้ำมีสภาพเลวร้ายกว่าที่คาด เรือต้องถอนตัวจากแผนการโจมตี[30] การโจมตีของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่คลังสรรพาวุธในคีลทำให้เกิดความล่าช้าในการซ่อมแซมเรือลาดตระเวนหนักพลเรือเอกเชียร์ (Scheer) และพลเรือเอกฮิพเพอร์ (Hipper) เรือทั้งสองไม่พร้อมที่จะปฏิบัติการไปจนถึงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม[31] พลเรือเอกกึนเธอร์ ลึทเจนต์ นายทหารซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้นำปฏิบัติการ ปรารถนาถ้ายืดเวลาปฏิบัติการออกไปอีกอย่างน้อยจนกว่าเรือชาร์นฮอสท์หรือเรือเทียร์พิตส์จะพร้อม[32] แต่กองบัญชาการสูงสุดกองทัพเรือตัดสินใจที่จะดำเนินการปฏิบัติการชื่อรหัส ปฏิบัติการไรน์อือบุง ต่อไป ซึ่งกองเรือประกอบด้วยบิสมาร์คและเรือลาดตระเวนหนักพรินซ์ออยเกิน (Prinz Eugen) เท่านั้น[30]
ปฏิบัติการไรน์อือบุง[แก้]
ดูบทความหลักที่: ปฏิบัติการไรน์อือบุง
บิสมาร์ค ถ่ายภาพจาก พรินซ์ออยเกินในทะเลบอลติกขณะเริ่มปฏิบัติการไรน์อือบุง
5 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์และวิลเฮ็ล์ม ไคเทิลพร้อมคณะเข้าเยี่ยมชม บิสมาร์ค และ เทียร์พิทซ์ ที่เมืองโกเทินฮาเฟิน หลังการเยี่ยมชมฮิตเลอร์ได้เข้าประชุมกับลึทเจนต์เพื่อหารือถึงปฏิบัติการ[33] 16 พฤษภาคม ลึทเจนต์รายงานว่า บิสมาร์ค และ พรินซ์ออยเกิน พร้อมเต็มที่สำหรับปฏิบัติการไรน์อือบุง เขาจึงได้รับคำสั่งให้เริ่มปฏิบัติภารกิจในตอนเย็นของวันที่ 19 พฤษภาคม[34] ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิบัติงาน กลุ่มเรือลำเลียงสิบแปดลำจะถูกวางตำแหน่งเพื่อสนับสนุน บิสมาร์ค และ เทียร์พิทซ์ เรืออูสี่ลำถูกวางไว้ตามเส้นทางของขบวนระหว่างแฮลิแฟกซ์และสหราชอาณาจักรเพื่อสอดแนมสำหรับเตรียมการจู่โจม[35]
เมื่อเริ่มปฏิบัติการ บิสมาร์ค มีลูกเรือและทหาร 2,221 นาย ซึ่งรวมถึงพนังงานของพลเรือ 65 คนและลูกเรือที่นำส่งเรือเชลย 80 นาย สำหรับนำส่งเรือที่ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติการ เมื่อเวลา 02:00 วันที่ 19 พฤษภาคม บิสมาร์ค ออกจากโกเทินฮาเฟินไปยังช่องแคบเดนมาร์ก และเมื่อเวลา 11:25 ได้เข้าร่วมขบวนกับ พรินซ์ออยเกิน ซึ่งออกจากแหลมอาร์โคนา (Cape Arkona) เมื่อ 21:18 คืนก่อน[36] เรือทั้งสองได้รับการคุ้มกันโดยเรือพิฆาตสามลำ Z10 Hans Lody Z16 Friedrich Eckoldt และ Z23 และกองเรือกวาดทุ่นระเบิด[37] ลุฟท์วัฟเฟอจัดการคุ้มกันทางอากาศระหว่างเดินทางออกจากน่านน้ำเยอรมัน[38] ราวเที่ยงของวันที่ 20 พฤษภาคม ลินเดอมันแจ้งให้ลูกเรือทราบถึงภารกิจผ่านเครื่องกระจายเสียง ในเวลาใกล้เคียง กลุ่มของเครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศของสวีเดนจำนวนสิบหรือสิบสองลำพบกองกำลังเยอรมันและได้รายงานการพบกองเรือ ขณะที่ฝ่ายเยอรมันกลับไม่ตรวจพบเครื่องบินของสวีเดน[39]
ชั่วโมงต่อมา กองเรือเยอรมันได้เผชิญหน้ากับเรือลาดตระเวนกอตแลนด์ (HSwMS Gotland) ของสวีเดน เรือกอตแลนด์ได้แล่นหลบหลีกกองเรือเยอรมันเป็นเวลาสองชั่วโมงในคัตเทกัต[40]กอตแลนด์ ส่งรายงานถึงกองบัญชาการกองทัพเรือว่า: "เรือใหญ่สองลำ เรือพิฆาตสามลำ เรือคุ้มกันห้าลำ และเครื่องบิน 10–12 ลำ ผ่านมาร์ชสตรานด์ (Marstrand) เส้นทาง 205°/20'"[38] กองบัญชาการใหญ่กองทัพเรือเยอรมันไม่กังวัลถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจาก กอตแลนด์ แม้ว่าทั้งลึทเจนต์และลินเดอมันเชื่อว่าปฏิบัติการจะไม่เป็นความลับอีกแล้ว[40] ในที่สุดรายงานก็เดินทางไปถึงกัปตันเฮนรี่ เดนแฮม (Henry Denham) ผู้ช่วยทูตกองทัพเรืออังกฤษประจำประเทศสวีเดน ผู้ส่งข้อมูลต่อไปยังกองทัพเรืออังกฤษ[41]
ยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก[แก้]
ภาพเรือบิสมาร์คหลังจมเรือหลวงฮูด ในยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก
ดูบทความหลักที่: ยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก
ในวันที่ 24 พฤษภาคม 1941 เรือทั้ง 2 ลำ ถูกฝั่งอังกฤษตรวจจับได้ ขณะอยู่ในบริเวณสแกนดิเนเวียทำให้อังฤกษส่งเรือรบเรือประจัญบานลำใหม่ เรือหลวงปรินส์ออฟเวลส์ และเรือหลวงฮูดลำเก่า ออกไปดักโจมตีที่ช่องแคบเดนมาร์ก
เวลาประมาณ 05:30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม กองเรือเยอรมันได้เดินทางมาถึงช่องแคบเดนมาร์ก ไฮโดรโฟนของเรือพรินซ์ออยเกินตรวจพบเรือสองลำทางกราบซ้าย เวลา 05:45 น. เรือทั้งคู่ก็ปรากฏในระยะสายตาแต่ทางเยอรมันยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นข้าศึก ฝ่ายอังกฤษประกอบไปด้วยเรือประจัญบานลำใหม่ ปรินส์ออฟเวลส์และเรือหลวงฮูดลำเก่า ภายใต้การบัญชาการของพลเรือตรีลานเซลอต ฮอลแลนด์ (Lancelot Holland) เรือพรินซ์ออฟเวลส์นั้นเพื่อต่อเสร็จเมื่อเร็วๆนี้และยังเพิ่งเริ่มออกทะเล (ขณะเผชิญหน้ากับบิสมาร์คนั้นมีลูกเรือเพียง 100 นายบนเรือและอยู่ในสภาพไม่พร้อม) เรือฮูดเก่านั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรือลาดตระเวนประจัญบานก่อนที่จะมีการปรับปรุงการป้องกันของเรือให้เป็นเรือประจัญบานแต่ยังคงมีเกราะดาดฟ้าที่ค่อนข้างอ่อนแอ เยอรมันไม่แปลกใจที่ได้พบกับเรือฝ่ายอังกฤษแต่คิดไม่ถึงว่าจะเป็นเรือหลวงของอังกฤษเลย
เมื่อเวลา 05.49 น. ฮอลแลนด์ได้รับคำสั่งให้ยิงตรงไปที่เรือข้าศึกที่แล่นนำหน้ามา พรินซ์ออยเกิน ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นบิสมาร์ค[42] แต่โชคยังเป็นของอังกฤษ เมื่อผู้บังคับการเรือปรินส์ออฟเวลส์ได้สังเกตเห็นถึงความผิดพลาดและทำการเปลี่ยนเป้าหมาย ฮอลแลนด์ได้รับคำสั่งแก้ไขเป้าหมายแต่คำสั่งนั้นกลับไปไม่ถึงพลปืนของฮูดก่อนที่จะได้ยิงตับแรกออกไป ฮูดได้ยิงกระสุนนัดแรกในยุทธนาวีเมื่อเวลา 05.52 น.ในเวลารุ่งอรุณ และตามติดด้วยพรินซ์ออฟเวลส์ ระยะห่างจากเรือฝ่ายเยอรมันในตอนนั้นประมาณ 12.5 ไมล์ (20.1 กม.) การยิงตับแรกของฮูด กระสุนตกใกล้กับพรินซ์ออยเกิน ทำให้เกิดความเสียหายเล็กน้อยใกล้กับป้อมปืนท้าย[42]
นานกว่า 2 นาทีที่ไม่มีการยิงตอบโต้จากกองเรือเยอรมัน ก่อนที่ผู้บังคับการเรือ ลินเดอมันน์ (Lindemann) จะสั่งให้ยิงตอบโต้ไปยังเรือธงของอังกฤษ ซึ่งก็คือเรือฮูดโดยเยอรมันสามารถระบุบได้เมื่อกองเรือรบอังกฤษได้ทำการเปลี่ยนทิศทางไปยังเรือฮูดเมื่อเวลา 05.55 น. กลยุทธ์นี้จะใช้เมื่อเรือพยายามจัดวางตำแหน่งของตนเองให้อยู่ในโซนคุ้มกัน เมื่ออยู่ในโซนดังกล่าวแล้วเรือจะสามารถยิงมุมสูงได้ (ยิงทำลายดาดฟ้าเรือ) และการยิงตรงของเรือศัตรูจะไม่ค่อยได้ผล แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ฮูดก็ยังคงมีจุดอ่อนเล็กน้อยและการควบคุมการยิงของเยอรมันยังเหนือกว่านิดหน่อย นอกจากนี้ยังมีข้อเสียคือ ในระหว่างการแล่นเรือปืนใหญ่ 8 กระบอกจาก 18 กระบอกไม่สามารถยิงสนับสนุนได้[43]
อับปาง[แก้]
การอับปางของเรือลำนี้เกิดขึ้นหลังการปฏิบัติการไรน์อือบุง นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร วินสตัน เชอร์ชิล ออกคำสั่ง "จมเรือบิสมาร์ค" ซึ่งกระตุ้นให้ราชนาวีอังกฤษติดตามเรือบิสมาร์คไปอย่างไม่ลดละ และในระหว่างที่เรือกำลังกลับจากปฏิบัติการนี้ เวลา 09:02 นาฬิกา เครื่องบินรบอังกฤษได้ระดมยิงตอร์ปิโดจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่เรือเสียชีวิตกันมากมาย และหางเสือเรือทรงตัวไม่ได้ และเรือรบ 4 ลำของอังกฤษ ได้ยิงปืนใหญ่ถล่มเรือ Bismarck จนเรือเสียหายอย่างรุนแรง และในที่สุดเวลา 10:20 am เรือก็อับปางลง พร้อมชีวิตของเจ้าหน้าที่เรือ 2,200 ชีวิต มีเพียง 114 ชีวิตเท่านั้นที่รอดมาได้
ซากอับปาง[แก้]
การค้นพบ[แก้]
ซากบิสมาร์คถูกค้นพบในวันที่ 8 มิถุนายน 1989 โดย ดร.โรเบิร์ต บัลลาร์ด (Robert Ballard) นักสมุทรศาสตร์ที่รับผิดชอบในการค้นหาอาร์เอ็มเอส ไททานิก บิสมาร์คถูกพบที่ระดับความลึกประมาณ 4,791 เมตร (15,719 ฟุต) ประมาณ 650 กม. (400 ไมล์) ทางตะวันตกของเมืองแบร็สต์ เรือชนกับภูเขาไฟใต้น้ำที่ดับแล้วที่สูงราว 1,000 เมตร (3,300 ฟุต) เหนือที่ราบก้นสมุทร ก่อให้เกิดแผ่นดินถล่ม 2 กม. (1.2 ไมล์) บิสมาร์คเลื่อนลงจากภูเขาลงมาหยุดสองในสามของความสูง บัลลาร์ดเก็บตำแหน่งของซากเรือไว้เป็นความลับเพื่อป้องกันไม่ให้นักดำน้ำอื่นนำสิ่งของจากเรือไป ซึ่งเขาถือว่าเป็นการโจรกรรมหลุมฝังศพ[44]
จากการสำรวจของบัลลาร์ดไม่พบการทะลุใต้น้ำของป้อมหุ้มเกราะ (citadel) ของเรือ พบแปดรูบนตัวเรือเหนือเส้นน้ำลึก หนึ่งรูที่ด้านกราบขวา และอีกเจ็ดรูที่ด้านกราบซ้าย รูหนึ่งอยู่ที่ดาดฟ้าเรือทางกราบขวาของหัวเรือ มุมและรูปร่างบ่งบอกว่ากระสุนที่สร้างหลุมนั้นถูกยิงจากด้านกราบซ้ายของบิสมาร์คแล้วชนกับสมอเรือกราบขวาจนหลุดหายไป[45] หกรูอยู่ตอนกลางลำเรือ สะเก็ดกระสุนสามชิ้นเจาะเข้าไปที่กราบบนสุด และสร้างรูที่เกราะกราบเรือ[46] นอกจากนี้ ท้านเรือปรากฏรูขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัด ขนานไปกับแท่นส่งเครื่องบินบนดาดฟ้าเรือ บันทึกของยานดำน้ำไม่บนสิ่งที่แสดงว่ากระสุนทะลุผ่านเกราะหลักและเกราะข้าง พบที่เกราะดาดฟ้าเรือเท่านั้น[47] รอยบุบขนาดใหญ่แสดงให้เห็นว่ากระสุนขนาด 14 นิ้วจำนวนมากถูกยิงโดยเรือคิงจอร์จ V กระเด้งออกมาไม่สามารถเจาะเกราะกราบเรือเข้าไปได้[48] นักประวัติศาสตร์ทหารเรือวิลเลียม การ์ซคี (William Garzke) และโรเบิร์ต ดับบลิน (Robert Dulin) กล่าวว่าเรือประจัญบานของอังกฤษยิงในระยะใกล้มาก การยิงวิถีราบทำให้ยากต่อการเจาะทะลุเป้าหมายที่ค่อนข้างแคบอย่างเกราะกราบเรือเหนือเส้นน้ำลึก การยิงกระสุนระยะใกล้ทำให้เกิดการสะท้อนกลับขึ้นไปที่ด้านบนของดาดฟ้าเรือหรือระเบิดบนน้ำ[49]
บัลลาร์ดตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่พบหลักฐานของการระเบิดจากภายในที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำเข้าลำเรือไม่เต็มลำขณะจม ทำให้น้ำที่อยู่รอบๆซึ่งมีแรงดันมากกว่าอากาศในตัวเรือจะบดขยี้เรือ บัลลาร์ดชี้ให้เห็นว่าตัวเรือนั้นอยู่ในสภาพที่ดี[50] นี่แสดงให้เห็นว่าห้องเรือของบิสมาร์คถูกน้ำท่วมเมื่อเรืออับปาง ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีเรือถูกจมโดยการเจาะรูใต้ท้องเรือ[51] บัลลาร์ดกล่าวเสริมว่า "เราพบตัวเรือที่มีทั้งลำและไม่มีความเสียหายเนื่องจากการเลื่อนไถลและการกระแทก พวกเขาสรุปว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการจมคือการจมโดยการเจาะรูใต้ท้องเรือ จากการก่อวินาศกรรมที่ห้องเครื่องยนต์โดยลูกเรือจากคำกล่าวอ้างของผู้รอดชีวิตชาวเยอรมัน[52]
ท้ายเรือทั้งหมดสูญหาย ไม่พบว่าอยู่ใกล้กับซากเรือหลัก และยังไม่ได้ถูกค้นพบ สันนิษฐานว่าไม่ได้เกิดจากการกระแทกกับพื้นทะเล คาดว่าหลุดออกจากการถูกยิงโดยตอร์ปิโด ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ของความล้มเหลวทางโครงสร้างเรือ[53] พื้นที่ท้ายเรือถูกยิงหลายครั้งจนเสียหายจากตอร์ปิโด เมื่อรวมกับความจริงที่ว่าท้ายเรือจมลงก่อน และไม่มีโครงสร้างรองรับที่จะยึดเอาไว้ท้ายเรือจึงหลุดออก ในปี 1942 พรินซ์ออยเกินก็ถูกตอร์ปิโดยิงที่ท้ายเรือจนเสียหาย เหตุนี้นี้ทำให้เกิดการเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างท้ายเรือของเรือหลวงเยอรมันทั้งหมด[52]
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น