รถถังโซเวียตคันเดียวที่ยื้อกองร้อยเยอรมันไว้ได้ถึง 2 วัน
การรบที่ราไซนี (The Battle of Raseiniai)
วันที่ 24 มิถุนายน 1941 ขบวนขนส่งเชลยศึกชาวโซเวียตของนาซีเยอรมนีกำลังลำเลียงชเลยศึกใกล้กับหมู่บ้านราไซนี ในประเทศลิธัวเนีย ขบวนดังกล่าว พบเข้ากับรถถัง KV (รถถังหนักแบบคลิเมียนท์ วาราชิลอฟ – Kliment Voroshilov Heavy Tank) ของโซเวียต จอดนิ่งอยู่ที่ทางแยกหนึ่ง จากปากคำของชาวบ้าน รถถังคันนี้มากับรถถังคันอื่นๆของโซเวียตที่จะใช้ในการเข้าตีในวันก่อนหน้านี้ (พวกเยอรมันตั้งฐานที่มั่นไว้ใกล้ๆกับหมู่บ้านราไซนี มีการเข้าตีในวันที่ 23 มิถุนายน 1 ครั้ง) แต่รถถังคันนี้ขับไปที่ทางแยก แล้วก็หยุด แล้วก็นิ่งไปเลยตลอดคืน พวกเยอรมันจึงอนุมานว่ารถถังคันนั้นถูกจอดทิ้งไว้ (เนื่องจากรถถัง KV มีปัญหาเรื่องระบบส่งกำลังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกถ้าหากเครื่องจะพังแล้วต้องจอดทิ้งไว้) ...ไม่นานพวกเขาก็ได้รู้ว่าพวกเขาคิดผิด...
รถถังคันนั้นเปิดฉากยิงใส่ขบวนลำเลียง ทำให้ทหารเยอรมันในขบวนนั้นต้องถอนกำลังกลับไปยังฐานที่มั่นของหน่วยราวส์ สังกัดกับกองพลน้อยยานเกราะที่ 6 (บทความหลักใช้คำว่า Kampfgruppe Raus ซึ่ง Raus เป็นชื่อผู้บัญชาการหน่วย ส่วน Kampfgruppe เป็นการรวมหน่วยรบผสมเข้าด้วยกัน มีขนาดตั้งแต่ระดับกองร้อยจนถึงกองพลน้อย)
ทางหน่วยราวส์คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องมีการเข้าตีโต้กลับจากพวกโซเวียตไม่ช้าก็เร็ว และเชื่อว่า KV คันนั้นคือส่วนหนึ่งของการเข้าตีโต้กลับ แต่เหมือนจะจงใจ KV คันนั้นยิงเสาโทรศัพท์พัง ตัดการติดต่อระหว่างราวส์และกองพลน้อยยานเกราะที่6
ระหว่างที่พวกเยอรมันยังคงพยายามหาว่าตัวเองโดนอะไรเข้า ขบวนขนส่งน้ำมันและกระสุนก็เคลื่อนเข้าเขตการยิงของ KV คันนั้น และโดนเก็บไปอีก 12 คัน
KV คันนั้นยังคงจอดนิ่ง แต่ยิงเข้าใส่ฐานที่ราไซนีอีกเป็นชั่วโมง ไม่มีใครรู้ว่าทำไมมันไม่ขยับ อาจจะเพราะเครื่องมันเสีย หรือเพราะได้รับคำสั่งให้คุ้มกันแนวถนน หรืออาจจะเพราะเครื่องใกล้เสีย ผู้บัญชาการรถถังเลยเลือกจุดที่จะได้จอดเพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นป้อมปราการ
พวกเยอรมันใช้เวลาสักพักกว่าจะรู้ตัวว่าพวกเขากำลังเจอกับรถถัง KV คันเดียว ไม่ใช่ทั้งกองพล ผู้บัญชาการหน่วยราวส์มีคำสั่งให้กำจัด KV คันนั้นอย่างเร็วที่สุด แต่ตอนนี้พวกเยอรมันต้องการกระสุนมาก และทหารที่ได้รับบาดเจ็บก็ต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถผ่าน KV คันนั้นไปได้ และรถลำเลียงที่พยายามจะอ้อม KV คันนั้นไปก็ต้องไปติดอยู่ในบึงด้านหลัง
ราวส์มีคำสั่งให้ใช้ปืนใหญ่ต่อต้านยานเกราะขนาด 50 มม. เพื่อกำจัด KV คันนั้น ทีมปืนใหญ่ต่อต้านยานเกราะ 4 ทีม พร้อมปืนใหญ่ต่อต้านยานเกราะ 4 กระบอกเคลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งที่จะสามารถยิงและสังเกตการณ์ผลการยิงได้ง่ายที่สุด และเริ่มเปิดฉากยิง ยิงไปทั้งหมด 8 นัด KV คันนั้นแน่นิ่งไป ดูเหมือนทุกอย่างจบแล้ว แต่ไม่ใช่...
หลังจากแน่นิ่งไปพักหนึ่ง KV นั้นก็หันป้อมปืนเข้าหาทีมปืนใหญ่ต่อต้านยานเกราะ และเปิดฉากยิง ทำลายปืนต่อต้านยานเกราะไป 2 กระบอก พร้อมๆกับฆ่าทีมพลประจำปืนใหญ่ 2 กระบอกนั้นทั้งทีม และทำให้ปืนใหญ่อีก 2 กระบอกเสียหาย
พวกเยอรมันพยายามจะทำลาย KV ด้วยการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่ 105 มิลลิเมตร แต่ยิงไม่โดน จากนั้นจึงนำปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 88 มม. เข้ามา ซึ่งเป็นปืนชนิดเดียวในสมัยนั้นที่เจาะเกราะของ KV เข้าอย่างแน่นอน พลประจำปืนต่อสู้อากาศยานเปิดฉากยิงจากระยะ 2000 เมตร จากนั้นพวกเยอรมันก็เคลื่อนปืน 88 มม. เข้าสู่ระยะ 700 เมตรเพื่อยิงซ้ำ แต่พลประจำรถถัง KV เตรียมรอไว้แล้ว จึงเปิดฉากยิง และทำลายปืน 88 มม. นั้นได้ในนัดแรก
พวกเยอรมันพยายามระเบิด KV ทิ้งโดยให้ทหารช่างแอบเข้าไปวางระเบิดในตอนกลางคืน ทหารช่างแอบเข้าไปวางระเบิดไว้ และจุดระเบิด แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ดินระเบิดอาจจะไม่พอ หรือทหารช่างอาจจะทำงานไม่ดีพอ KV คันนั้นยังไม่ถูกทำลาย มีเพียงล้อสายพานที่ขาดออกจากกันเพราะแรงระเบิดเท่านั้น
เช้าวันต่อมา พวกเยอรมันตัดสินใจใช้รถถังเบาแบบ 35(ที) (Panzerkampfwagen 35(t) รถถังเบา Vz 35 ที่เยอรมันยึดมาได้จากเช็คโคสโลวาเกีย) วิ่งเข้าใส่ KV คันนั้น ปืนของรถถังเบาแบบ 35(ที) นั้นไม่สามารถเจาะเกราะของ KV เข้าได้ไม่ว่าจากระยะไหนก็ตาม แต่งานของรถถังเบาคันนี้ไม่ใช่การกำจัด KV แต่เป็นการเบนความสนใจในขณะที่ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 88 มม. อีกจำนวนหนึ่งเคลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งยิง ส่วน KV คันนั้นไม่ยิงรถถังแบบ 35(ที) เนื่องจากการยิงเป้าหมายเคลื่อนที่เร็วนั้นทำได้ยาก
เมื่อเคลื่อนเข้าถึงตำแหน่งยิงแล้ว ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 88 มม. จึงเริ่มเปิดฉากยิง นัดแรกเข้าเป้า KV หันปืนไปยังปืน 88 มม. กระบอกหนึ่งเพื่อยิงต่อสู้ ก่อนจะโดนกระสุน 88 มม. เข้าอีกนัดหนึ่ง แล้วป้อมก็นิ่งไป
พวกเยอรมัน คราวนี้ยังไม่เชื่อว่ามันจะจบแค่นี้ จึงอัดกระสุนเจาะเกราะขนาด 88 มม. เข้าไปอีก 4 นัด จนกระทั่งดูเหมือนทุกอย่างจบลงแล้ว ทหารเยอรมันเริ่มเข้าไปตรวจสอบรถถัง KV คันนั้น มีรูบนตัวถังแค่ 2 รูเท่านั้นจากปืนต่อสู้อากาศยาน 88 มม. ส่วนปืนต่อต้านยานเกราะขนาด 50 มม. ไม่มีลูกไหนยิงเข้า
ทหารเยอรมันคนหนึ่งลองเคาะที่ป้อมของ KV ดู และดูเหมือนมันตอบสนองได้ ป้อมปืนของ KV คันนั้นก็เริ่มหัน ทหารเยอรมันที่ล้อมรอบ KV คันนั้นอยู่ ก็เลยวงแตก วิ่งหนีกันไปคนละทิศละทาง พร้อมกับร้องตะโกนด้วยความกลัว ในขณะที่มีทหารคนหนึ่งโยนระเบิดมือลงไปในช่องที่กระสุนปืนใหญ่เจาะเข้าช่องหนึ่ง แรงระเบิดทำให้ฝาครอบป้อมปืนเปิดออก
จากนั้นพวกเยอรมันก็กลับเข้าไปหารถถังคันนั้นอีกครั้ง และพบศพทหารรัสเซียที่เป็นพลประจำรถถัง KV คันนั้นทั้ง 6 คนอยู่ในรถถัง
ความกล้าหาญของพลประจำรถถัง KV นั้นเป็นที่ประทับใจทหารเยอรมันที่นี่มาก แทนที่จะทิ้งศพไว้เหมือนกับที่ทำกับศพทหารข้าศึกทั่วไป ทหารเยอรมันที่ราไซนีตัดสินใจนำศพพลประจำรถถังทั้ง 6 คน ออกมา และจัดพิธีฝังศพให้เท่าที่พึงจะทำได้ในสนามรบ
ต่อมาในปี 1965 ร่างของพลประจำรถถัง KV ทั้ง 6 นั้นก็ถูกขุดขึ้นมา และนำไปทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติในสุสานในหมู่บ้านราไซนี
ไม่มีใครรู้ว่าทหารหาญเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหน ที่หน้าหินหลุมฝังศพของทหารทั้ง 6 นาย จารึกชื่อไว้ว่า พี.อี. ยาสลอฟ, วี.เอ. สมีร์นอฟ, นักรบผู้มีชื่อนำหน้าด้วยอักษร เช. เอ็น. เอ. และนักรบนิรนามอีก 3 นาย
หมายเหตุ: บันทึกนี้มาจากทหารฝ่ายเยอรมัน ซึ่งได้เล่าเรื่องราวนี้จากมุมมองของเขาหลังจากตกเป็นชเลยของทางอเมริกาในช่วงปลายสงคราม บันทึกของทหารเยอรมันรายนี้ไม่ได้ระบุว่ารถถัง KV ที่พวกเขาพบนั้นเป็น KV ในรุ่นใด ผู้เขียนจึงไม่ได้เขียนชื่อรุ่นของรถถัง KV คันนั้น อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า KV แห่งราไซนีนั้นน่าจะเป็นรถถังแบบ KV-2
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น